Saturday, 23 November 2024

หยุด 1 วัน หัก 5 วัน นายจ้างทำได้หรือไม่?

นายจ้างทำได้หรือไม่?

หยุด 1 วัน หัก 5 วัน

นายจ้างทำได้หรือไม่?

.

เรามาพูดเรื่องการหักเงินค่าจ้างกันต่อจากคราวที่แล้วกันครับ

ประเด็นปัญหาคราวนี้ มักเกิดในกิจการขนาดจิ๋ว ที่นายจ้างมักตั้งข้อกำหนดเอาตามใจนึกว่า ถ้าลูกจ้างหยุดงานในวันสำคัญ เทศกาล จะต้องถูกลงโทษโดยใช้การหักเงินค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างรายวันปกติ 3-5 เท่า

.

มีประเด็นก็คือ ลูกจ้างหยุดงาน 1 วัน แต่นายจ้างหักเงิน 5 วัน เป็นการลงโทษ

กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างทำได้หรือไม่ ?ิ

.

เรื่องนี้ ผู้เขียนขอนำเอากฎหมาย 2 มาตรา มาเล่าให้ฟังครับ ขอให้ผู้อ่าน ลองอ่าน มาตรา 76 และ77 ก่อนนะครับ

.

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

.

การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน หนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความ ยินยอมจากลูกจ้าง

.

มาตรา 77 ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตาม มาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตาม มาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ

.

เห็นหรือไม่ครับว่า กฎหมายมาตรา 76 บอกว่า “ห้ามหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด”

.

ถ้าเหตุผลในการหักเงินไม่ตรงกับที่กฎหมายอนุญาตให้หักได้ คือ

-เงินภาษี

-ค่าบำรุงสหภาพแรงงาน

-หนี้สินสหกรณ์ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

-เงินประกันตามมาตรา 10 ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

-เงินสะสม

.

แม้กฎหมายจะอนุญาตให้นายจ้างหักค่าจ้างเป็นค่าเสียหายได้

แต่นายจ้างอย่าเพิ่งดีใจไปนะครับว่าจะหักค่าความเสียหายได้ง่ายๆ เพราะกฎหมายบอกไว้ในมาตรา 77 ว่า ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ

.

จากทั้งหมดที่เล่ามา สรุปสั้นๆชัดๆ คือ

.

นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างวันที่ลูกจ้างหยุดได้

.

แต่จะหักเงินส่วนที่ลูกจ้างทำงานไปแล้ว เกิดค่าจ้างขึ้นแล้วไม่ได้

.

จะหักเงินค่าจ้างได้เฉพาะกรณีเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 76 และ 77 เท่านั้นครับ

.

และถ้าจะอ้างว่าลูกจ้างทำให้เสียหาย ก็ต้องไปดูอีกว่าเป็นลูกจ้างประมาทเลินเล่อร้ายแรงและมีข้อตกลงยินยอมเป็นหนังสือหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะไหม

.

ถ้าไม่มีข้อตกลงเฉพาะ แม้ลูกจ้างจะทำให้เสียหายโดยประมาทร้ายแรง นายจ้่างก็หักเงินค่าจ้างไม่ได้เหมือนเดิม

.

ประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ค่าจ้างที่ลูกจ้างได้ทำงาน ใช้หยาดเหงื่อแรงงานแลกเงินมาแล้ว ลูกจ้างก็สมควรจะได้รับ ส่วนความเสียหายอื่นที่ลูกจ้างทำให้นายจ้างเสียหาย ถ้ากฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่อนุญาตให้หักค่าจ้าง นายจ้างก็หักเงินส่วนค่าจ้างนี้ไม่ได้ครับ

.

แต่อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างทำให้นายจ้างเสียหายจริงๆ นายจ้างก็ยังมีสิทธิไปไล่เบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ แต่กรณีนี้ จะหักค่าจ้างไม่ได้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มาตรา 76 และ 77 อนุญาตไว้ครับ

.

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้บ้างนะครับ และฝากแชร์ให้คนที่ยังทำงานอยู่ เพื่อวันหนึ่งจะได้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกหักเงินค่าจ้างไม่ถูกต้องครับ

.

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

.

หากท่านไม่อยากจำและอยากมีที่ปรึกษาปัญหาแรงงาน

ทางพรรคแรงงานสร้างชาติมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือดังนี้

ศูนย์ช่วยเหลือกฎหมายเพื่อประชาชน”พรรคแรงงานสร้างชาติ”

https://www.facebook.com/groups/nationlabour

.

ศูนย์ประสานงานรับร้องเรียน/ร้องทุกข์ด้านแรงงาน

https://www.facebook.com/groups/582536455701386