Saturday, 23 November 2024

การประชุมสัมนาเพื่อผู้ใช้แรงงาน โดย พรรคแรงงานสร้างชาติ

ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านสังคมในการเลือกตั้งทั่วไป

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกรายงานเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” และ “ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป 2566” บทความนี้จะเสนอข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านสังคม ซึ่งประกอบด้วยนโยบายสวัสดิการสังคม นโยบายด้านสุขภาพ นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

1. นโยบายสวัสดิการสังคม

ในภาพรวมพรรคการเมืองแข่งขันกันตอบสนองความต้องการสวัสดิการสังคมของคนไทยในช่วงวัยต่างๆ และกลุ่มเปราะบางทั้งหลายอย่างคึกคัก โดยหลายพรรคการเมืองเสนอสวัสดิการในรูปของการให้เงินแก่ประชาชน เช่น บางพรรคมีนโยบาย “ท้องปุ๊บ รับปั๊บ” เพื่อช่วยเหลือแม่ตั้งครรภ์โดยจะให้เงินเดือนละ 3,000 บาทตลอด 9 เดือน ในขณะที่ 2 พรรคการเมืองเสนอให้สวัสดิการถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทแก่ผู้สูงอายุ  และมีหลายพรรคการเมืองที่เสนอเงินช่วยเหลือในการดูแลเด็กเล็ก

สวัสดิการเหล่านี้มีต้นทุนทางการคลังในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ โดยบางพรรคยังเสนอนโยบายลดภาษีควบคู่ไปด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ในการจัดสวัสดิการตามที่ประกาศลดลงไปอีกจนอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เหมือนนโยบาย “มารดาประชารัฐ”   ทั้งนี้นโยบายสวัสดิการที่มีต้นทุนทางการคลังสูงที่สุดคือ การให้เงินสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งมากกว่าอัตราปัจจุบันที่ 600-1,000 บาทหลายเท่าตัว โดยต้องใช้เงินถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามมีพรรคการเมืองเดียวใน 2 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายดังกล่าวโดยระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้โดยรวม

นอกจากนี้ นโยบายสวัสดิการบางอย่างที่พรรคการเมืองเสนอยังอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย เช่น นโยบายการเพิ่มสิทธิลาคลอด ซึ่งมี 3 พรรคการเมืองเสนอตรงกันว่าจะเพิ่มสิทธิในการลาเป็น 180 วัน  อย่างไรก็ตาม การวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ในปัจจุบันมีแรงงานหญิงร้อยละ 40 ที่ลาออกจากงานทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจเมื่อตั้งครรภ์ ทำให้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มวันลาคลอดที่เสนอกันขึ้น  นอกจากนี้ การเสนอเพิ่มจำนวนวันลาคลอดของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มาพร้อมการเสนอเพิ่มเงินชดเชยระหว่างลาคลอด ในปัจจุบันแรงงานหญิงจำนวนมากไม่ได้ลาคลอดเต็มระยะเวลา 98วันอยู่แล้ว เพราะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายเพียง 45 วัน จึงต้องกลับไปทำงานก่อนกำหนดเพื่อหารายได้  

นโยบายสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมจึงควรมุ่งให้ความคุ้มครองในทุกมิติ โดยนอกจากสิทธิประโยชน์ในรูปตัวเงินในระดับที่เหมาะสมกับฐานะการคลังของประเทศแล้ว พรรคการเมืองควรต้องพิจารณาปรับปรุงบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มจำนวนและยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้จริง โดยในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองควรมุ่งทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการให้สวัสดิการแก่ประชาชนในพื้นที่  

2. นโยบายด้านสุขภาพ  

พรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบายด้านสุขภาพจำนวนมาก เช่น ขยายบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ให้เงินปรับปรุงบ้านผู้สูงวัยและผู้พิการ ให้บริการเครื่องฉายรังสีทุกจังหวัดและศูนย์ฟอกไตทุกอำเภอ พัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งให้บริการดูแลสุขภาพจิตทั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและผ่านระบบการแพทย์ทางไกล เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุและให้เงินชดเชยการเจ็บป่วยและค่าเดินทางไปพบแพทย์ เพิ่มเงินให้ อสม. และผลักดัน “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Medical Tourism)

การขยายบริการและเพิ่มสิทธิต่างๆ หลายอย่างเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็มีต้นทุนทางการคลังในระดับที่สูง ซึ่งนอกจากการระบุแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือสนับสนุนกฎหมายขยายเพดานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาทต่อเดือนที่ใช้มาแล้ว 30 ปี ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีทรัพยากรเพิ่มขึ้นและสามารถนำมาเพิ่มบำนาญและขยายบริการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตน โดยเงินสมทบที่เก็บเพิ่มจะไม่กระทบผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน  นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายกระจายอำนาจการบริหารสถานพยาบาลของรัฐ โดยคำนึงถึงระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้สถานพยาบาลตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น

พรรคการเมืองควรทบทวนนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจริงๆ คือเน้นการรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยการท่องเที่ยวมากแล้ว ยังดึงราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนให้สูงขึ้น และเกิดการแย่งทรัพยากรซึ่งเพิ่มภาระทางการเงินของโครงการหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคมด้วย ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองควรพิจารณานโยบายเปิดให้แพทย์และพยาบาลต่างประเทศเข้ามารักษาคนไข้ต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลที่จะรุนแรงขึ้นจากการรับคนไข้ต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก  

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรทบทวนนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลปัจจุบัน โดยสร้างกลไกควบคุมการใช้กัญชาที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ที่อาจได้รับกัญชาที่ถูกใส่ไว้ในอาหารโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว

ที่สำคัญพรรคการเมืองควรมีนโยบายยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพในระยะยาวเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำตลอดจนอุบัติภัยทางสุขภาพต่างๆ โดยพัฒนา “องค์กรเจ้าภาพ” ที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสั่งสมความรู้ทั้งด้านวิชาการและนโยบาย ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น องค์กรดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นเสนาธิการให้แก่ฝ่ายนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างใหม่ เช่น ศบค. ซึ่งแม้มีอำนาจมาก แต่ก็ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุก (Proactive) 

3. นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน

ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาด้านคุณภาพโดยรวมในระดับต่ำและมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานที่ล้าสมัยมานานตั้งแต่ปี 2551 การขาดการพัฒนาครูอย่างมีประสิทธิผล การขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก การที่ครูต้องใช้เวลากับโครงการต่างๆ มากมายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และวัฒนธรรมในการจัดการศึกษาที่เน้นสั่งการจากส่วนกลาง    

มีอย่างน้อย 8 พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายด้านการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมนโยบายที่สำคัญ และหากสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ก็จะสามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้บางส่วน เช่น การปรับหลักสูตร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มการเรียนรู้ การเพิ่มสวัสดิการของนักเรียนและครู การจัดการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การแจกคูปองเรียนรู้ การเพิ่มแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน การให้อิสระแก่โรงเรียนในการบริหาร และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการบริหารระบบการศึกษา 

พรรคการเมืองส่วนใหญ่ควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาที่เสนอใน 2 เรื่อง ประการแรก นโยบายการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยของหลายพรรคการเมืองยังจำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ การเขียนโปรแกรม หรือการตอกย้ำค่านิยมดั้งเดิมให้แก่นักเรียน  ประการที่สอง ยังไม่มีพรรคใดเสนอที่จะปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการทำนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองต้องการ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณทั้งหมดในระดับที่ไม่ต่ำกว่าของประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับมีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนต่ำกว่าของประเทศเหล่านั้นมาก ซึ่งสะท้อนว่า การใช้งบประมาณน่าจะยังไม่มีประสิทธิภาพ  

นอกจากนี้ มี 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้เรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา โดยบางพรรคให้เรียนฟรีในระดับอาชีวะศึกษา ในขณะที่บางพรรคให้เรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัย แม้นโยบายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนรายได้น้อยได้บ้าง แต่ข้อมูลอัตราการเรียนต่อในระดับชั้นต่างๆ ชี้ว่า การขาดโอกาสเรียนต่อในระดับการศึกษาพื้นฐานเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไขเสียก่อน เช่น ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาชี้ว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 10 ยังไม่มีโอกาสเรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ “ฟรี” อย่างแท้จริง เช่น นักเรียน ม.ปลาย จากครอบครัวที่มีรายได้น้อยยังมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ย 5,472 บาทต่อคนต่อปี โดยเกือบร้อยละ 90 เป็นค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าเครื่องแบบ  ดังนั้น การให้เรียนอุดมศึกษาฟรีนอกจากจะไม่ตอบโจทย์กลุ่มที่มีความจำเป็นมากที่สุดแล้ว ยังจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้นด้วย 

เรามีข้อเสนอแนะ 3 ประการต่อพรรคการเมืองในการปรับนโยบายการศึกษาคือหนึ่ง ควรเร่งปรับหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาพื้นฐานใหม่ โดยวางเป้าหมายการพัฒนาคนให้มี “สมรรถนะโดยรวม” มากกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศหรือทักษะบางด้าน โดยให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาความรู้ ทักษะและเจตคติ  สอง ควรส่งเสริมการเรียนฟรีในระดับการศึกษาพื้นฐานก่อน โดยจัดสรรทรัพยากรมากขึ้นให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  สาม ควรปรับงบประมาณด้านการศึกษาใหม่ โดยลดงบประมาณส่วนที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนและครู เพื่อให้สามารถเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงมากขึ้น

4. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

หากเปรียบเทียบกับนโยบายด้านอื่นๆ เช่นนโยบายการให้สวัสดิการสังคมแล้ว นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานยังไม่ได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่างๆ มากนัก หรือถูกนำเสนอเพียงในลักษณะของนโยบายด้าน “ปากท้อง”  ตัวอย่างนโยบายที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอได้แก่ การใช้พลังงานหมุนเวียน การขายคาร์บอนเครดิต การแก้ไขระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า และการแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นต้น 

นโยบายที่สำคัญแต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอเลยคือ นโยบายที่เกี่ยวกับการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่มากต่อประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 ของโลกตามการประเมินของ Global Climate Risk Index 

นอกจากนี้พรรคการเมืองก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนนักในการทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2065 หรือพ.ศ. 2608 ตามที่ประกาศต่อประชาคมโลก แม้จะมีบางพรรคการเมืองเสนอให้เลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปีพ.ศ. 2580 หรือส่งเสริมการใช้มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ดี แต่นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ถูกบางพรรคการเมืองลดทอนลงจนเหลือเพียงการสร้างรายได้จาก “คาร์บอนเครดิต” ของเกษตรกร ซึ่งเป็นการแปลงนโยบาย “สิ่งแวดล้อม” เป็นนโยบาย “ปากท้อง” ทั้งที่การจะสร้างรายได้ดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง และทำให้คุณภาพคาร์บอนเครดิตไทยสูงขึ้นนั้น จะต้องพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ อีกมาก  

นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอคือ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าร์ หรือเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินดังที่กล่าวไปแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีหลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายลดค่าไฟฟ้าหรืออุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟบางกลุ่มเช่นเกษตรกร หรือแก่ประชาชนทั่วไปทั้งหมด ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกหากไม่สามารถเปลี่ยนผ่านทางพลังงานได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ  

นอกจากนี้นโยบายการลดค่าไฟฟ้าน่าจะมีความท้าทายในทางปฏิบัติมาก เนื่องจากข้อจำกัดในปัจจุบันจากสัญญาการซื้อขายพลังงานระยะยาวจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน และการสำรองไฟฟ้าของประเทศในระดับสูงมาก แม้บางพรรคการเมืองเสนอนโยบาย “รื้อโครงสร้างพลังงาน” แต่ก็ยังไม่เสนอรายละเอียด  ดังนั้นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย “ลดค่าไฟฟ้า” หรือ “รื้อโครงสร้างพลังงาน” จึงควรให้รายละเอียดต่อแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวด้วย  

ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนปีละกว่า 3 หมื่นคนและยังมีผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนจำนวนมาก เป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น นโยบายในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า การห้ามเผาป่าและแปลงเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวง ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายมากในรัฐบาลผสมที่น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจึงควรสร้างฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่าจะแข่งขันกันทางนโยบายเหมือนในเรื่องอื่น

คณะผู้จัดทำรายงาน

บุญวรา สุมะโน (นโยบายสวัสดิการสังคม) วิโรจน์ ณ ระนอง (นโยบายด้านสุขภาพ) ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร (นโยบายการศึกษาระดับพื้นฐาน) และ ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ และขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร (นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

ข้อเสนอ สำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกรายงานเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566  โดยวิเคราะห์ในภาพรวมว่า แม้จะมีหลายนโยบายที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนประสบอยู่ แต่ก็ยังมีนโยบายจำนวนน้อยมากที่ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างแท้จริงในระยะยาว ทั้งในด้านการช่วยทำให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจตลอดจนภาคเกษตรมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำนวนหนึ่งที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว เนื่องจากใช้งบประมาณมากเกินกว่าที่ฐานะทางการคลังของประเทศจะรองรับได้ มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ หรืออาจสร้างบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยของประชาชนในการชำระเงินกู้

ในรายงานฉบับนี้ ทีมวิจัยจะนำเสนอข้อสังเกตต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง 4 ด้านคือ นโยบายคมนาคมและขนส่ง นโยบายด้านเกษตร นโยบายด้านแรงงาน และนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เราหวังว่าพรรคการเมืองจะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในรายงานนี้ไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายของตนให้สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิผลมากขึ้น

1. นโยบายด้านคมนาคมขนส่ง

นโยบายด้านการคมนาคมขนส่งที่พรรคการเมืองนำเสนอส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแนวนโยบายกว้างๆ ที่ขาดรายละเอียดสำคัญ ทั้งในส่วนของงบประมาณและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น  ทั้งนี้นโยบายที่ถูกนำเสนอมากที่สุดเป็นเรื่องการพัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Logistics Hub) การสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์และระบบรางเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการใช้อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ทั้งนี้ บางพรรคการเมืองเริ่มนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับนโยบายส่วนคมนาคมขนส่ง เช่น ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และกำหนดข้อจำกัดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นเป็นปัญหาที่ประชาชนสนใจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารระบบรางที่อยู่ในระดับสูง แต่การปรับลดค่าโดยสารของระบบรางอาจไม่สามารถทำได้มากเหมือนที่พรรคการเมืองเสนอ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาก  เราจึงเห็นว่าพรรคการเมืองควรพิจารณาระบบขนส่งมวลชนอื่นประกอบด้วยโดยเฉพาะรถเมล์ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงที่สุด 

มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เสนอให้เปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เราเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีและใช้งบประมาณไม่มาก  อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองควรมีนโยบายในการปรับปรุงรถเมล์ให้ครอบคลุมขึ้น ทั้งการกำหนดเส้นทางและจำนวนเที่ยวที่ให้บริการ และควรมีนโยบายในการให้เงินอุดหนุนบริการรถเมล์ที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพบริการให้ประชาชนอยากใช้มากขึ้น  และหากทำได้สำเร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจพิจารณากำหนดค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดทั้งระบบราง รถเมล์และเรือ ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารโดยรวมต่อเที่ยวการเดินทางลดลง และช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายด้านระบบขนส่งสาธารณะที่พรรคการเมืองเสนอส่วนใหญ่ยังมักจำกัดอยู่เฉพาะระบบขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่ประชาชนในต่างจังหวัดก็ขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพเช่นกัน ทำให้ยังต้องพึ่งพารถส่วนตัวและจักรยานยนต์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้รับการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการหรือร่วมตัดสินใจในการจัดระบบขนส่งในพื้นที่ของตน  

เราจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถจัดทำระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่ เช่น สนับสนุนจังหวัดขอนแก่นให้สามารถจัดทำระบบรางให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วเพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น    

ในด้านการขนส่งสินค้า พรรคการเมืองควรมีนโยบายจัดสร้างสถานีขนส่งคอนเทนเนอร์ (Container Yard) ในบริเวณชุมทางใหญ่ของระบบรางในภูมิภาคต่างๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และนครสวรรค์ เนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบรถไฟทางคู่ที่ลงทุนไว้แล้ว ลดปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้าจากทั่วประเทศจากการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าในประเทศและเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ เข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค 

นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หรือระบบรางเพิ่มเติม ควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายดังกล่าวไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันของมอเตอร์เวย์และระบบราง เพื่อไม่ให้แข่งขันกันเองและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ตลอดจนทำให้เกิดการกระจุกตัวในการพัฒนาเฉพาะบางพื้นที่ โดยควรพิจารณาลงทุนระบบรางในเส้นทางหลัก และระบบมอเตอร์เวย์ในเส้นทางเชื่อมโยงกับระบบรางไปยังพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ

2.  นโยบายด้านการเกษตร

แม้ว่าแทบทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายด้านการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อนโยบายนี้น้อยกว่านโยบายด้านสวัสดิการ  นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองครอบคลุม 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ (ก) การประกันรายได้ การอุดหนุนชาวนาและชาวประมง ที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4.57 แสนล้านบาท (ข) การถือครองที่ดินและสิทธิทำกินบนที่ดินของพรรคการเมือง 4 พรรค (ค) การใช้เทคโนโลยีการเกษตรของพรรคการเมือง 2 พรรค (ง) นโยบายด้านสินเชื่อและการพักชำระหนี้ของพรรคการเมือง 3 พรรค และ (จ) การจัดการน้ำ ของ 3 พรรค

กล่าวโดยภาพรวม นโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยซึ่งประกอบไปด้วยการที่เกษตรกรมีอายุสูงขึ้น ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มต่ำ การผลิตใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำและที่ดินมาก ซึ่งทำให้จะต้องปรับตัวอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในอนาคตภาคเกษตรยังจะได้รับแรงกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในส่วนของนโยบายให้เงินอุดหนุนเกษตรกร แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรที่เกิดจากภาวะราคาพืชผลตกต่ำและวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ผลการวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศพบว่า การอุดหนุนโดยไม่มีเงื่อนไขมักทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัว โดยเฉพาะทำให้ไม่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ประหยัดการใช้ทรัพยากร และลดปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจก 

นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียงคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายประกาศเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าอุทยานทับซ้อนกับที่ดินของเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรจำนวนมากอาศัยทำกินมาก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะใช้นโยบายป่าชุมชนและโฉนดชุมชน 

นอกจากนี้นโยบายการแจกที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่เสนอกันขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (สปก.) มาตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาลได้แจกที่ดินให้เกษตรกรถึง 36.4 ล้านไร่ (หรือ 24.4 % ของที่ดินการเกษตร) ทำให้ไทยเป็นประเทศที่แจกที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ก็ถึงทางตันจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ การจำกัดสิทธิของเกษตรกรไม่ให้ใช้ที่ดิน สปก. ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร คุณภาพของที่ดินไม่เหมาะต่อการเกษตร การที่เกษตรกรนำที่ดินที่ได้รับแจกไปขาย และการที่ลูกหลานของเกษตรกรไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรอีกต่อไป 

ในส่วนของปัญหาหนี้สิน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 90 มีหนี้สินสูงเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและไม่แน่นอน การไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย การขาดความรู้ทางการเงินและการที่สถาบันการเงินขาดข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้การทำสัญญาการชำระเงินไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดของเกษตรกร นอกจากนี้ การมีนโยบายพักชำระหนี้อย่างต่อเนื่องยังทำให้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ในขณะที่ยังไม่ได้จัดการกับหนี้เดิมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น  การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรจึงไม่ใช่สามารถทำได้โดยพักชำระหนี้ที่เคยทำมาในอดีต หรือยกเลิกการแบล็คลิสต์ของเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบการเงินของประเทศ 

เราจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในการคิดค้นนโยบายช่วยเหลือให้เกษตรกรเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้พรรคการเมืองควรคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ การขยายสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาที่ดิน การสนับสนุนให้เกษตรกรยากจนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร การปรับโครงสร้างหนี้และการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพและกระแสรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญากู้ยืมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรที่ครอบคลุม  

3. นโยบายแรงงาน

นโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน และการสร้างงานใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานไทยคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งหมายถึงความสามารถของคนงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ  แม้แต่พรรคการเมืองที่เสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้เสนอหลักคิดที่เชื่อมโยงค่าจ้างขั้นต่ำเข้ากับผลิตภาพแรงงาน  นอกจากนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่ได้เสนอนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าควรมีจำนวนเท่าใดและควรใช้แรงงานต่างด้าวอย่างไร ทั้งที่การมีแรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงต่ำจำนวนมากมีผลทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพิ่มผลิตภาพ 

ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนทำงานได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่นายจ้างปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ตลอดจนลดความสูญเสียต่างๆ ในการประกอบการ ผลิตภาพแรงงานยังเกิดขึ้นได้จากการที่แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นโดยการได้รับฝึกอบรมที่มีคุณภาพ

เรามีข้อเสนอแนะด้านนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมืองดังนี้  หนึ่ง ควรกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่เหมาะสมที่ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่นายจ้างยังสามารถดำเนินธุรกิจได้  พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเช่น 4 ปี โดยมีสูตรการคำนวณในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ชัดเจนตามผลรวมของ 1. อัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน 2. อัตราเงินเฟ้อ และ 3. อัตราการปรับเพิ่มเฉลี่ยในแต่ละปีเพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้  ทั้งนี้การพิจารณาองค์ประกอบทั้งหลายควรคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และอุตสาหกรรมด้วย  

การใช้สูตรดังกล่าว โดยกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายและระยะเวลาในการปรับไปสู่เป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนชีวิตและวางแผนธุรกิจของตนได้ โดยลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นายจ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สอง พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs เพิ่มผลิตภาพด้วยการลดความสูญเสียในการประกอบการ (ดูนโยบายด้าน SMEs ในส่วนที่ 4 ประกอบ) และใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานทักษะต่ำ ตลอดจนมีนโยบายในการฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้คนงานได้รับ “คูปองฝึกทักษะ” (Training Coupon) เพื่อสามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ   

สาม พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลงในระยะยาว โดยควรเหลือเฉพาะแรงงานสำหรับงานที่คนไทยไม่ต้องการทำและไม่สามารถทดแทนด้วยเครื่องจักร โดยควรประกาศแผนให้ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะลดจำนวนคนงานต่างด้าวเหลือเท่าใด ในอุตสาหกรรมใด และออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทั้งการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตและการให้สิทธิประโยชน์ของแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน  

4. นโยบายสนับสนุน SMEs  

มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพียง 2 พรรคเท่านั้น โดยในภาพรวมนโยบายให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การให้เงินทุนแก่ SMEs การยกเว้นและลดภาษีเงินได้ การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการ และการปรับแก้กฎหมายเพื่อช่วยปลดล็อคการประกอบธุรกิจของ SMEs  อย่างไรก็ตามยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายชัดเจนในการช่วย “เพิ่มผลิตภาพ” ซึ่งจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระยะยาว  

นโยบายตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนแก่ SMEs ของบางพรรคการเมืองน่าจะถูกเสนอขึ้นเพื่อสนองต่อ SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีความพยายามช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้แก่ SMEs จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น SME Bank บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่แล้ว แต่ SMEs จำนวนมากก็ยังไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จึงเข้าไม่ถึงเงินทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผลประกอบการไม่ดีและเสี่ยงที่สินเชื่อจะกลายเป็น NPL   

ส่วนนโยบายการเพิ่มลูกค้าให้แก่ SMEs ไม่ว่าจะเป็น “หวย SMEs” หรือการกำหนดให้การซื้อสินค้าจาก SMEs สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และการให้คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น อาจเพิ่มรายได้ให้แก่ SMEs ได้บ้าง แต่ก็จะเป็นการช่วยเหลือ SMEs ในระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่สามารถทำได้ในระยะยาวเพราะจะต้องใช้งบประมาณมาก เช่นเดียวกันกับโครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เคยช่วยกระตุ้นรายได้ของ SMEs ในช่วงสั้นๆ ที่โควิด-19 ระบาด  หรือโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่มีผลช่วย SMEs ไม่มากเพราะ SMEs ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้  ส่วน SMEs ที่เหลือเกือบทั้งหมดก็ถูกกีดกันออกจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ในส่วนที่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเฉพาะธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้ 

นโยบายช่วยเหลือ SMEs ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ควรพิจารณา ควรมุ่งช่วยเหลือให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การบริหารคลังสินค้า การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำบัญชี การตลาดและการส่งออก  อย่างไรก็ตาม SMEs แต่ละแห่งมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน  แนวทางสนับสนุน SMEs ที่เราแนะนำคือ การใช้ระบบ “วินิจฉัยธุรกิจ” คล้ายกับระบบ “ชินดัง” (Shindan) ของญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปเข้าไปวินิจฉัย SMEs แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนในด้านใด หลังจากนั้นก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้คำปรึกษาในเชิงลึกจนสามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น   ทั้งนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนบางส่วนในรูปของ “คูปองเพิ่มผลิตภาพ” (Productivity Coupon) และให้ SMEs ออกเงินสมทบบางส่วนด้วย  ทั้งนี้เมื่อ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพได้แล้ว ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้กลไกประกันสินเชื่อของ บสย. ประกอบด้วย   

เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคการเมืองในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจต่างๆ โดยเสนอให้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎหมาย” ซึ่งเคยใช้ได้ผลในต่างประเทศและบางหน่วยงานในประเทศไทยมาแล้วเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ SMEs โดยบังคับใช้ประกาศเรื่อง “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ” ให้เกิดประสิทธิผล เพื่อให้ SMEs ได้รับรายได้เร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น

คณะผู้จัดทำรายงาน

สุเมธ องกิตติกุล (นโยบายด้านคมนาคมขนส่ง) นิพนธ์ พัวพงศกร (นโยบายด้านการเกษตร) ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร (นโยบายแรงงาน) และ ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศและยศ วัชระคุปต์ (นโยบายสนับสนุน SMEs) 

ข้อสังเกตเรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน: วิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากทีดีอาร์ไอได้ออกบทความ 3 บทความ[1]เพื่อตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองในการจัดทำนโยบาย โดยข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็มีนโยบายจำนวนมากที่น่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกลับจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณเกินตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

บทความดังกล่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ประกาศนโยบายต่างๆ ออกมาในช่วงนั้นยังไม่ได้ระบุว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใดมาดำเนินนโยบาย เช่น จะมีการเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือจะตัดลดงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันในด้านใดลง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องนำเสนอข้อมูล 3 รายการแก่ กกต. คือ วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย ตลอดจนผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย  ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรได้ทราบเพื่อให้สามารถประเมินได้ว่า การจะได้สวัสดิการหรือประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองจะต้องแลกมาด้วยต้นทุนเท่าไร และจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างไร 

ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหลายได้นำเสนอข้อมูลทั้ง 3 รายการต่อ กกต. แล้ว โดย กกต.นำมาเปิดเผยในเว็บไซต์ [2] เราจึงได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ส่วนข้อสังเกตต่อเนื้อหาของนโยบายต่างๆ นั้นอยู่ในบทความที่เคยนำเสนอก่อนหน้าแล้ว[1]    

1. ข้อสังเกตโดยรวม

เนื่องจากพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนมาก เราจึงเลือกศึกษาเฉพาะเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม)  

หากพิจารณาตามข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอ จะพบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท เรียงตามลำดับคือ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท) พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท) พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) ตามตารางที่ 1  

ที่มา: ประมวลจากข้อมูลที่พรรคการเมืองรายงานต่อ กกต.

นโยบายของเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังไม่ผ่อนคลายและอาจเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อด้านอุปทาน (supply-side inflation) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการที่พลังงานมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ถูกบังคับให้ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบ

เรามีข้อสังเกตโดยรวม ประการต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ดังต่อไปนี้   

ประการที่หนึ่ง บางพรรคการเมืองได้หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการนโยบายที่รายงานต่อ กกต. ทั้งที่หลายนโยบายก่อให้เกิดภาระทางการเงินสูงมาก จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนไม่ครบถ้วนอย่างมีนัยสำคัญ   

ประการที่สอง หลายพรรคการเมืองอ้างที่มาแหล่งของเงินว่ามาจากการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ โดยไม่ให้รายละเอียดว่าจะตัดลดส่วนใดและจะมีโอกาสได้เม็ดเงินจากการตัดลดมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่เสนอมากเพียงใด ทำให้ประชาชนไม่เห็นผลกระทบอย่างครบถ้วน กล่าวคือเห็นแต่สิ่งที่จะได้รับแต่ไม่เห็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เช่นเดียวกันกับที่บางพรรคการเมืองระบุว่าจะมีรายได้มาจากภาษีเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ระบุว่าจะมาจากภาษีใด จัดเก็บจากกลุ่มเป้าหมายใด และจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับรายได้ตามเป้าหมายเพียงใด

ประการที่สาม ทุกพรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินรายนโยบายโดยไม่ได้แสดงภาพรวม ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของความพอเพียงของแหล่งเงิน โดยบางพรรคอาจระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบายในลักษณะนับซ้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีเงินเพียงพอในการดำเนินนโยบาย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก กกต. กำหนดแบบฟอร์มให้พรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินตามแต่ละนโยบาย โดยไม่ได้กำหนดให้นำเสนอภาพรวมด้วย

ประการที่สี่  บางพรรคการเมืองระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินกองทุนต่างๆ หรืองดการเก็บภาษี เสมือนว่าเงินนอกงบประมาณหรือการงดการเก็บภาษีนั้นไม่ได้สร้างภาระทางการคลัง เช่นเดียวกันกับการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังเมื่อหน่วยงานเหล่านี้ประสบปัญหา   

ประการที่ห้า  พรรคการเมืองส่วนใหญ่ระบุประโยชน์ของนโยบาย  แต่ในส่วนของผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายกลับระบุไว้ค่อนข้างน้อยหรือไม่ระบุเลย เช่น หลายพรรคระบุว่านโยบายของตนไม่มีความเสี่ยงเลย ทั้งที่ต้องใช้เงินมาก ต้องแก้ไขกฎหมายและมีรายละเอียดในทางปฏิบัติมาก และหลายพรรคก็ไม่ระบุกลุ่มผู้รับประโยชน์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ แทบไม่มีพรรคใดวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายที่เสนอว่าดีกว่านโยบายทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร  

2. ข้อสังเกตต่อเอกสารของแต่ละพรรคการเมือง

2.1 พรรคภูมิใจไทย* – รายงานนโยบายไม่ครบ

พรรคภูมิใจไทยระบุว่าจะต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในบรรดา 6 พรรคใหญ่ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งบางส่วนน่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ในระดับที่สูงถึงปีละ 7 แสนล้านบาทจากนโยบาย “เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท” แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งทางปฏิบัติน่าจะต้องใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายที่แจ้งต่อ กกต. ยังไม่ใช่นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงทั้งหมด เนื่องจากยังมีนโยบายสำคัญอื่นๆ อีกมาก เช่น นโยบาย “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” ซึ่งโฆษณาในเว็บไซต์ของพรรค แต่ไม่ได้รายงานต่อ กกต.  การประมาณการเบื้องต้นชี้ว่านโยบายนี้อาจต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 9แสนล้านบาทตลอด 3 ปี  และยังมีอีกหลายนโยบายที่ไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เช่น นโยบาย “เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน” นโยบาย “ฉายรังสีรักษามะเร็งฟรี ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ” นโยบาย “รถเมล์ไฟฟ้า ลด PM 2.5 ค่าบริการ 10-40 บาท” และนโยบาย “ฟรีโซล่าเซลล์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเดือนละ 100” 

2.2 พรรคเพื่อไทย – มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง

พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบาย 70 นโยบาย โดยระบุว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีก 1.8 ล้านล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ (1)รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท (3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และ (4) การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท 

การใช้แหล่งเงิน (1), (3) และ (4) จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องปรับลดงบลงทุน หรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน  อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ เช่น ไม่ได้ระบุว่าสวัสดิการใดที่จะถูกปรับลดเนื่องจากซ้ำซ้อนกับการแจกเงินดิจิทัล  ส่วนรายได้ภาษีจาก (2) น่าจะมีความเสี่ยงสูงมากเพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปขนาดของ “ตัวคูณทางเศรษฐกิจ” (multiplier) ได้เพราะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยน่าจะใช้ค่าตัวคูณทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งมีโอกาสที่จะสูงกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้ระบุถึงความเสี่ยงในการเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายส่วนใหญ่ (44 จาก 70 นโยบาย) ที่อ้างว่าแหล่งที่มาของเงินมาจาก “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” เช่น การยกระดับสวัสดิการของประเทศทั้งระบบ การลดช่องว่างทางรายได้โดยจะทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน และการปรับลดราคาพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ) เป็นต้น ซึ่งหลายนโยบายไม่น่าจะสามารถทำได้ด้วย “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” โดยไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติมจำนวนมาก

2.3 พรรคก้าวไกล – จัดทำเอกสารดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน

พรรคก้าวไกลมีนโยบายต่างๆ ซึ่งระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาท โดยนโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุดคือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาทจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน  ส่วนนโยบายที่ใช้เงินรองลงมาคือนโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะใช้งบ 2 แสนล้านบาท โดยระบุว่าจะมาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด  

ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่ม พรรคก้าวไกลระบุว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6.5 แสนล้านบาทต่อปี และจะปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น   

โดยรวมแล้ว พรรคก้าวไกลจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างละเอียด โดยแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น เช่น ระบุว่าส่วนไหนจะใช้งบของหน่วยงาน งบกลางหรือต้องหาเงินเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ ตัวเลขงบประมาณที่พรรคก้าวไกลนำเสนอเกือบทั้งหมดยังเป็นตัวเลขของปีงบประมาณ 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายและแสดงภาระการคลังสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นการประมาณการที่ค่อนข้างรัดกุม  ที่สำคัญพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ทำให้สามารถอุดช่องโหว่ปัญหาวินัยการคลังในอดีตที่บางรัฐบาลเน้นการใช้เงินส่วนนี้ซึ่งรัฐสภาไม่สามารถกลั่นกรองได้เพราะไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนในเอกสารที่เสนอต่อ กกต. ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีอย่างไร และจะมีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะจัดเก็บเพิ่มได้ตามจำนวนที่ระบุ  แม้ได้ระบุว่ามีความเสี่ยงที่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ได้ตามเป้าไว้บ้างก็ตาม นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ระบุความเสี่ยงจากการปฏิรูปต่างๆ ตามนโยบายพรรคที่อาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกองทัพและหน่วยราชการส่วนกลาง

2.4 พรรคพลังประชารัฐ – ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุน

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่จะใช้งบประมาณมากที่สุดคือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายของพรรคพลังประชารัฐน่าจะใช้เงินมากกว่าของพรรคก้าวไกลเมื่อเปรียบเทียบในปีเดียวกัน เนื่องจากให้สวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไปมากกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ  

พรรคพลังประชารัฐระบุว่า ที่มาของเงินในการดำเนินนโยบายจะมาจากงบประมาณประจำปีปกติ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมทั้งรายได้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ไว้เลย ทำให้ไม่มีความชัดเจน

พรรคพลังประชารัฐยังมีนโยบาย “น้ำมันประชาชน” ซึ่งอ้างว่าจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่จะใช้การลดราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลังของรัฐอย่างแน่นอนในรูปของการขาดดุลการคลังและการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เช่น  การงดจัดเก็บภาษีน้ำมันจะทำให้รัฐเสียรายได้ปีละ1.4 แสนล้านบาท  ในขณะที่การงดเงินสมทบกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะมีผลต่อฐานะของกองทุนดังกล่าว และทำให้กองทุนเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้  โดยในปัจจุบันกองทุนน้ำมันก็ติดลบอยู่แล้วกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทจากการที่รัฐบาลปัจจุบันแทรกแซงราคาน้ำมัน เช่นเดียวกันนโยบายยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ก็จะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ จึงควรต้องระบุที่มาของเงินที่จะมาทดแทนด้วย    

2.5 พรรคประชาธิปัตย์ – ตั้งกองทุนไม่มีรายละเอียด

พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่านโยบาย 11 ชุดที่เสนอขึ้นจะใช้เงินทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาทต่อปี โดยจะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดคือนโยบาย “สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ” ซึ่งมีวงเงิน 3 แสนล้านบาท และนโยบาย “ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน” ซึ่งมีวงเงิน 1.6 แสนล้านบาท โดยทั้งสองนโยบายจะใช้เงินนอกงบประมาณ  

นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายเพื่ออุดหนุนเกษตรกรอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบอุดหนุนเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยงบก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือการอุดหนุนชาวนาครัวเรือนละ 30,000 บาทที่ตั้งไว้ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะประมาณการต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนชาวนาทั้งหมดในปีที่มีการปลูกข้าวมาก เช่นเดียวกันกับการประกันรายได้ที่จ่ายส่วนต่างราคาให้พืชเกษตร 5 ชนิดสำหรับเกษตรกร 8.5 ล้านครัวเรือนที่ตั้งงบไว้ 7.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็อาจต่ำเกินไปในบางปีเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถคาดการณ์ราคาได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจลดพื้นที่การอุดหนุนหรือปรับราคาเป้าหมายของพืชต่างๆ ลงได้บ้าง  

ในส่วนของแหล่งรายได้ พรรคระบุว่าจะมีรายได้จาก 3 แหล่งใหญ่คือ (1) การปรับลดงบประมาณบางรายการ (เช่นงบกลาง) ลง 1 แสนล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีใหม่จากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 3.2 หมื่นล้านบาท และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 1 แสนล้านบาท โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าภาษีใหม่ที่กล่าวถึงคือภาษีอะไร และจะมีหลักประกันในการจัดเก็บอย่างไร เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ที่ว่ารัฐบาลปัจจุบันสามารถจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินได้น้อยมาก

นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้เงินนอกงบประมาณ 4.6 แสนล้านบาทนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า เงินดังกล่าวจะมีที่มาจากที่ใด นอกจากนโยบาย “สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ” ซึ่งระบุว่าจะใช้ “กองทุนภาครัฐ” เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ SME และสตาร์ทอัพ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในการบริหารจัดการ และยังระบุว่าไม่ความเสี่ยงทางนโยบายอีกด้วย ทั้งที่กองทุนดังกล่าวจะใช้เงินทุนตั้งต้นมหาศาลและมากกว่าหลายกองทุนที่เคยมีมาทั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 ซึ่งใช้เงิน 1 แสนล้านบาท กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท   

2.6 พรรครวมไทยสร้างชาติ – ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง

พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองที่ระบุวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายต่ำที่สุดใน 6 พรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคน่าจะระบุต้นทุนทางการเงินของนโยบายต่างๆ ต่ำเกินไปมาก เช่น ระบุว่านโยบาย “เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน” จะใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่หากจะให้ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) คนละ 1 พันบาทต่อเดือน จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านบาทต่อปี 

นอกจากนี้ การระบุว่านโยบาย “เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงอายุ” (ยกเว้นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) จะใช้เงินปีละ 4 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะต่ำเกินไปเนื่องจากมีผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมาย 6.4 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรวมเกือบ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี  เช่นเดียวกันการระบุว่านโยบาย “เพิ่มเงินสมทบของรัฐให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาทต่อเดือน” จะใช้งบประมาณเพียง 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีก็น่าจะต่ำเกินไปมาก เนื่องจากการเพิ่มเงินสมทบให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.3 ล้านคน ก็จะต้องใช้เงินอย่างน้อยปีละ 7.8 หมื่นล้านบาท  

การประมาณการต้นทุนของนโยบายลดต้นทุนของเกษตรกร (ช่วยค่าเก็บเกี่ยวของเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาทโดยให้ความช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 5 ไร่) ซึ่งระบุว่าจะใช้เงินเพียง 6 พันล้านบาทต่อปี ก็น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เนื่องจากเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีก็มีถึง 4.18 ล้านครัวเรือนในปี 2564 ซึ่งหากให้ครัวเรือนละ 1 ไร่ ก็จะต้องใช้เงิน 8.3 พันล้านบาทแล้ว  

3. ข้อเสนอแนะ

3.1 ข้อเสนอแนะต่อ กกต.

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายแก่ประชาชนโดยผ่านการดูแลของ กกต. จริงอยู่ที่ กกต. ไม่มีอำนาจและไม่สมควรเป็นผู้ตัดสินว่านโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองหาเสียงสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะควรเป็นดุลพินิจของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งการหักล้างของพรรคการเมืองที่แข่งขันกันด้วย  

อย่างไรก็ตาม กกต. ก็ไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ของตนในการกำกับให้พรรคการเมืองให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน แต่หลังจากที่พรรคการเมืองได้ส่งข้อมูลให้แก่ กกต. เพื่อเปิดเผยต่อประชาชนเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ก็ไม่ปรากฏชัดว่า กกต. ได้มีการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลหรือไม่เพียงใด ซึ่งอย่างน้อย กกต. ควรตรวจสอบดูว่ามีพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏในเอกสารที่นำส่ง กกต. หรือไม่   ในกรณีนี้ กกต. อาจให้พรรคการเมืองที่รายงานไม่ครบถ้วนยืนยันว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายของพรรคหรือไม่ หากเป็นนโยบายของพรรค ก็ควรให้ยื่นข้อมูลที่ยังขาดอยู่มาเพิ่มเติมมาโดยเร็ว แต่หากไม่ใช่ ก็ควรตักเตือนไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายดังกล่าวในการหาเสียง

นอกจากนี้ กกต. ควรกำหนดแนวทางให้แก่พรรคการเมืองในการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนต่อประชาชน และให้ฝ่ายต่างๆ สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการให้รายละเอียดในการคิดต้นทุนของแต่ละนโยบาย เช่น ในกรณีให้สวัสดิการแก่ประชาชน นอกเหนือจากต้องระบุต้นทุนทางการเงินต่อหน่วยของผู้รับประโยชน์แล้ว ควรต้องระบุจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ด้วย เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมืองอื่นตลอดจนรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสามารถตรวจสอบได้ว่า การประมาณการต้นทุนดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่  กกต. ยังควรกำหนดให้พรรคการเมืองสรุปโดยภาพรวมด้วยว่า นโยบายทั้งหมดของพรรคจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมเท่าใด และจะมีแหล่งเงินมาจากที่ใด โดยมีรายละเอียดที่เพียงพอของแหล่งที่มาของเงิน เช่น ระบุข้อสมมติต่างๆ ที่ใช้ในการประมาณการรายได้และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รายได้ตามวงเงินดังกล่าว รวมทั้งระบุรายได้ภาษีหรือรายได้อื่นของรัฐที่จะลดลงจากบางนโยบาย เพื่อให้เห็นผลกระทบทางการคลังอย่างครบถ้วน   

3.2 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงบ้างแล้วจากการที่ราคาพลังงานในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อหากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป

พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพ (potential GDP growth)มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควร “เก็บกระสุน” ไว้ใช้กระตุ้นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเช่นเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนี้ พรรครัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ในระดับร้อยละ 61 ของ GDP ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำอีกต่อไปแล้ว และในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคมและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ ดังนั้นหากหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ดังที่หน่วยงานจัดอันดับเครดิต (credit rating agency)ต่างๆ เริ่มแสดงความวิตกกังวลกัน  

นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ควรยกระดับมาตรฐานการจัดทำเอกสารระบุต้นทุนของนโยบายและที่มาของเงินให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง