Saturday, 23 November 2024

ไทย 60 ล้านคน ต้องเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล


ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย แนะ ผู้บริหาร 3 กองทุนสุขภาพ ‘สปสช.-สปส.-กรมบัญชีกลาง’ บูรณาการร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพหนึ่งเดียว ให้ สปสช. บริหารจัดการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ผู้บริหารทั้ง 3 กองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง ต้องบูรณาการร่วมกันให้เกิดเป็นระบบเดียวโดยให้ สปสช. เป็นกลไกหลักในการดูแลประชาชนทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมเป็นมาตรฐานดียว ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย

ทั้งนี้ แม้ สปสช. ในแง่ช่วงเวลาการก่อตั้งจะมาหลังสุด แต่มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิประโยชน์มากกว่าทุกกองทุน รวมถึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณค่อนข้างรัดกุม เห็นได้จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการกับหน่วยบริการที่ทุจริตจำนวนมาก อีกทั้งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุไว้ว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายฉบับนี้

อย่างไรก็ดี บางบริการที่เคยมีอยู่ของแต่ละกองทุนก็ให้คงไว้ตามเดิม เช่น การเข้ารับการรักษาในคลินิกเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สปส. เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ฯลฯ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยพึงพอใจในสิทธิเหล่านี้ของประกันสังคม

“สำหรับผมมองว่าเรื่องสุขภาพพื้นฐานต้องเท่าเทียมกันก่อน ทั้ง 3 กองทุนเลย ส่วนใครจะมีส่วนเสริมเพิ่มเติมหนึ่งสองสาม หรือมีกำลังเงินเพิ่มก็ไปซื้อเพิ่มจากประกันสุขภาพของเอกชนก็ได้รับเพิ่มตามนั้นไป” ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธาน คปค. ระบุ

นายมนัส กล่าวว่า ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ จะเป็นสิทธิการรักษาที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถเบิกได้ตามโรคที่เกิดขึ้นจริงทุกกรณี ส่วนระบบบัตรทอง แม้จะรักษาฟรี แต่ในบางกรณี เช่น การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ สำหรับระบบประกันสังคม จะสามารถเลือกโรงพยาบาลทั้งที่เป็นรัฐและเอกชนได้ แต่สิทธิประโยชน์บางรายการก็จะได้ไม่เท่ากับอีก 2 สิทธิ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บริการด้านทันตกรรม

นอกจากนี้ ถ้าเฉพาะในด้านบริการทันตกรรม สำหรับผู้ประกันตนนั้น ไม่มีการระบุไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 54 ว่าเป็นสิทธิการรักษาที่ผู้ประกันตนจะได้รับ ดังนั้น บริการทันตกรรมของผู้ประกันตนจึงเปรียบเหมือนส่วนเสริมที่ สปส. เพิ่มมาให้เท่านั้น และในส่วนนี้เองยังเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อเปรียบเทียบกันกับของบัตรทองซึ่งให้บริการทันตกรรมเป็นสิทธิการรักษาจึงมีความแตกต่างกัน

“เราเลยต้องมีการเรียกร้องมาโดยตลอดตั้งแต่อัตราต่อปีอยู่ที่ 200 ขยับเป็น 400, 600, และ 900 บาท รวมถึงในเรื่องปัญหาโรคที่เกิดขึ้นกับช่องปากก็ขับเคลื่อนจนเป็นสิทธิการรักษาไม่ว่าจะเหงือกบวม ฟันผุ ฯลฯ แต่ส่วนบริการเรามีขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และทำฟันปลอม ปัญหาอยู่ที่ว่าการเรียกร้องครั้งที่แล้ว เราต้องการให้มันฟรี แต่ทาง สปส. ยังไม่ให้ และต่อรองมาได้อยู่ที่ 900 บาทต่อปี ซึ่งก็ต้องค่อยๆ เดินหน้าต่อไป” นายมนัส กล่าว

ขอขอบคุณแหล่งข่าว

https://www.thecoverage.info/news/content/4434