บังคับได้หรือไม่ ?
ข้อตกลงไม่เอาค่าชดเชย
บังคับได้หรือไม่ ?
************************************************
ยุคนี้ เศรษฐกิจอาจไม่ค่อยจะคล่องตัวเท่าไร นายจ้างหลายๆแห่งเริ่มจะลดค่าใช้จ่ายด้วยการเปลี่ยนข้อตกลงในสัญญาจ้าง หรือความเสี่ยงที่ต้องจ่าย
.
โดยเขียนสัญญาจ้างให้มีข้อตกลงว่า “ลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง”
.
หรือ แม้แต่จะจ้างลูกจ้างที่เกษียณอายุให้ช่วยทำงานต่อ แต่ก็มีข้อสัญญาว่า ลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย” มิฉะนั้นจะไม่จ้างงาน
.
ประเด็นปัญหาก็คือ ข้อตกลงแบบนี้ ใช้บังคับได้ไหม ?
.
หลายๆท่านอ่านมาถึงตรงนี้ และติดตามเรื่องเกี่ยวกับค่าชดเชยมาบ้าง คงคิดว่า เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนฯ ต้องใช้บังคับไม่ได้แน่นอน ใช่ไหมครับ
.
แต่ ยังก่อน มาดูข้อกฎหมายก่อนครับ
เรื่องค่าชดเชย จะอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ครับ
ถ้าอยากอ่านรายละเอียด กดลิ้งค์นี้ได้เลยครับ
https://www.facebook.com/…/a.116246771…/133356189475552/
************************************************
คำถามคือ ถ้านายจ้าง จะไม่จ่ายค่าชดเชย จะทำได้ในเงื่อนไขไหนบ้าง
มีบอกไว้่ในมาตรา 119 ครับ
************************************************
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด
ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
.
ท่านผู้อ่านเห็นไหมครับว่า ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้นายจ้างทำข้อตกลงไม่จ่ายค่าชดเชยแม้แต่ข้อเดียว
.
************************************************
คำถามต่อมาก็คือ ถ้านายจ้างไม่จ่ายอีก นายจ้างจะเป็นอย่างไร ?
************************************************
ก็มีโทษทั้งแพ่งและทางอาญา
.
ทางอาญา จำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
.
ทางแพ่งก็ต้องบังคับจ่าย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีระหว่างผิดนัด
.
และถ้ามีไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ นายจ้างอาจต้องจ่ายอีกร้อยละ 15 ทุกๆ 7 วัน ด้วยครับ
.
จากที่ไม่จ่ายกันหลักหมื่น จะกลายเป็นแสนได้เลย
.
เห็นไหมครับว่า ค่าชดเชยตามกฎหมาย มีบอกไว้ชัดว่า นายจ้างต้องจ่าย
.
***********************************************
ประเด็นหลักของตอนนี้ก็คือ แล้วลูกจ้างตกลงสละสิทธิเอง ได้หรือไม่ ?
.***********************************************
เรื่องนี้ ไม่มีกฎหมายระบุห้ามลูกจ้างสละสิทธิเรียกค่าชดเชยนะครับ
.
แต่ แนวทางของศาลฎีกา จะแยกไว้ชัดเจน 2 กรณี
.
กรณีที่ 1 ทำข้อตกลงก่อนหรือขณะยังเป็นลูกจ้าง
กรณีที่ 2 ทำข้อตกลงหลังจากเลิกเป็นลูกจ้างไปแล้ว
.
กรณีที่ 1 “ทำข้อตกลงก่อนหรือขณะยังเป็นลูกจ้าง” ศาลวางหลักเอาไว้ว่า ถ้าลูกจ้างทำข้อตกลงสละสิทธิ์เพื่อให้ได้เข้าทำงาน หรือ เป็นลูกจ้างอยู่แล้วทำข้อตกลง ศาลมองว่า ลูกจ้างไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจได้อย่างสิ้นเชิง โดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวนายจ้าง และเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีโทษจำคุกซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องจึงเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันลูกจ้าง ครับ เทียบเคียง ฎีกาที่10757/2559
.
ส่วนกรณีที่สอง “ทำข้อตกลงหลังจากเลิกเป็นลูกจ้างไปแล้ว” ศาลฎีกาวางหลักว่าเป็นข้อตกลงที่อดีตลูกจ้าง มีอิสระเต็มที่ ตัดสินใจได้โดยอิสระ ยอมรับข้อเสนออื่น หรือยอมสละสิทธิของตน จึงมีผลบังคับ ผูกพันลูกจ้าง (เทียบเคียง ฎีกาที่ 2819/2554)
************************************************
สรุปชัดๆก็คือ ลูกจ้างจะสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่า ลูกจ้างตกลงสละสิทธิตอนไหน ถ้าก่อนหรือตอนเป็นลูกจ้าง ข้อตกลงก็เป็นโมฆะไป
.
แต่ถ้าหลังจากเลิกจ้างไปแล้ว ไม่อยู่ในฐานะนายจ้างลูกจ้างกันแล้ว มีอิสระในการตัดสินใจเต็มที่ ไม่ถูกข่มขู่ หลอกลวง อันนี้ข้อตกลงมีผลบังคับ ลูกจ้างจะรับเงิน หรือ ประโยชน์อไรบางส่วนแลกกับการสละสิทธิ แล้วจะไปฟ้องเรียกร้องตามสิทธิอีก ไม่ได้นะครับ
************************************************
หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้บ้างนะครับ และฝากแชร์ให้เพื่อนๆที่ยังทำงานอยู่ เพื่อวันหนึ่งท่านผู้อ่านอาจจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกเลิกจ้างครับ
.
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
.
หากท่านไม่อยากจำและอยากมีที่ปรึกษาปัญหาแรงงาน
ทางพรรคแรงงานสร้างชาติมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือดังนี้
ศูนย์ช่วยเหลือกฎหมายเพื่อประชาชน”พรรคแรงงานสร้างชาติ”
https://www.facebook.com/groups/nationlabour
ศูนย์ประสานงานรับร้องเรียน/ร้องทุกข์ด้านแรงงาน