Saturday, 23 November 2024

การสละค่าชดเชย นายจ้างบังคับลูกจ้างให้ทำได้ไหม ?

.

มีประเด็นร้อนๆมาอีกแล้วครับ คราวนี้เกี่ยวกับเรื่องค่าชดเชย นายจ้างหัวหมอจะไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย แล้วบังคับให้ลูกจ้างทำสัญญาสละค่าชดเชยซะเลย กะว่างานนี้ จะไม่ต้องจ่ายเงินก้อนเลยทีเดียว

.

ประเด็นปัญหาคือ สัญญาที่ลูกจ้างยอมสละค่าชดเชยนี้ มีผลอย่างไร? บังคับได้ตามกฎหมายไหม ? ผู้เขียนเลยมาเล่าให้ฟังครับ

*********************************************************

ก่อนอื่นมาดูข้อกฎหมายกันก่อนว่า “ค่าชดเชย” คืออะไร ?

*******************************************************

“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

.

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า

ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับ

ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง

อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง

ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปี แต่ไม่ครบยี่สิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบยี่สิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสี่ร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสี่ร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน

โดยคำนวณเป็นหน่วย

.

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

.

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน

หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

.

จากข้อกฎหมายที่ผู้เขียนนำมาให้อ่าน ให้ความหมายของ “ค่าชดเชย” เอาไว้ว่าเป็น “เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง” และ

.

“การเลิกจ้าง” หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

.

ส่วนรายละเอียดว่า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าไร ก็ดูตามรายละเอียดด้านบนได้เลยครับ

****************************************************************

****แต่ประเด็นปัญหาของวันนี้ก็คือ กรณีที่มีการเลิกจ้างจริง และ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจริง ลูกจ้างจะสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ไหม ?

****************************************************************

ผู้เขียนคิดว่า ประเด็นเรื่องลูกจ้างยอมสละค่าชดเชยโดยสมัครใจ อาจจะเจอได้น้อยครับ แต่นายจ้างบังคับหรือหลอกล่อให้สละนี่ เจอบ่อย

.

นายจ้างบังคับลูกจ้าง หรือลูกจ้างยอมทำสัญญาสละค่าชดเชยนี้ เกิดผลอย่างไร ?

.

***ประเด็นนี้ ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ชัดเจน ในฎีกาเลขที่ 2409/2507 ว่า “การจ่ายค่าชดเชย เป็นหน้าที่ของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างมีความผิดทางอาญา ถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

***การที่ลูกจ้างทำหนังสือสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย จึงไม่ทำให้สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าชดเชยระงับ”****

.

เห็นไหมครับว่า จากฎีกานี้ แม้ลูกจ้างเต็มใจทำหนังสือสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย กฎหมายยังให้สิทธินั้นอยู่ ไม่ได้หายไปด้วย

.

ในระยะหลัง ศาลฎีกาได้วางหลักเพิ่มเติมว่า “ถ้าเป็นการตกลง ขณะอยู่ในฐานะลูกจ้าง ลูกจ้างไม่มีอิสระในการตัดสสินใจได้อย่างสิ้นเชิง ข้อตกลงจะเป็นโมฆะ (ฎีกา 10757/2559)

.

แต่ถ้าตกลงหลังจากที่เลิกจ้างแล้ว ไปตกลงรับเงินกันแทนการเรียกร้องสิทธิ ศาลฎีกาจะถือว่าข้อตกลงหลังเลิกจาก เป็นข้อตกลงที่ลูกจ้างไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง จึงใช้บังคับได้ ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิเรียกร้องอีกต่อไป(เทียบเคียง ฎีกาที7740-7747/2553)

.

กรณีนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเงินค่าชดเชยเป็นเรื่องที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนที่ได้ทำงานกันมานาน จำนวนที่ได้ก็เป็นไปตามที่มาตรา 118 กำหนด

.

อีกประเด็นที่ผู้เขียนอยากให้ทำความเข้าใจคือ ค่าชดเชย ไม่ใช่เรื่องของค่าเสียหายที่ลูกจ้างได้รับจากการเลิกจ้างนะครับ เราจะไม่ได้นำเอาความเสียหายมาเกี่ยวข้อง เพราะแม้ต้องขึ้นศาล ก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่าลูกจ้างเสียหายอย่างไรหรือไม่ เป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องทำเพื่อตอบแทนลูกจ้างที่ทำงานให้นายจ้างมานาน

.

ในมุมมองของผู้เขียน ค่าชดเชย คือเงินตอบแทนที่ลูกจ้างต้องเหนื่อยยาก เดินทางลำบาก และทำงานให้นายจ้างมาเป็นเวลายาวนาน นายจ้างจึงควรที่จะให้เงินสักก้อน เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ลูกจ้างได้มีทุนรอนในการใช้ชีวิตต่อไป

.

ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้บ้างนะครับ และฝากแชร์ให้คนที่ยังทำงานอยู่ เพื่อวันหนึ่ง หากมีกรณีคล้ายกันนี้ จะได้ช่วยเหลือกันได้ครับ

.

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

.

หากท่านไม่อยากจำและอยากมีที่ปรึกษาปัญหาแรงงาน

ทางพรรคแรงงานสร้างชาติมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือดังนี้

ศูนย์ช่วยเหลือกฎหมายเพื่อประชาชน”พรรคแรงงานสร้างชาติ”

https://www.facebook.com/groups/nationlabour

.

ศูนย์ประสานงานรับร้องเรียน/ร้องทุกข์ด้านแรงงาน

https://www.facebook.com/groups/582536455701386